เล็บครุฑ ชื่อวิทยาศาสตร์ : Polyscias fruticosa (L.) Harms จัดเป็นไม้ประดับต้นที่นิยมปลูกทั้งในกระถาง และแปลงจัดสวน เนื่องจากมีลำต้น และทรงพุ่มไม่สูง ใบมีลักษณะแปลก มีลวดลายสวยงาม รวมถึงเป็นไม้มงคลที่เชื่อว่าจะคอยคุ้มครองภยันตรายไม่ให้กล้ำกลาย ทั้งภูตผี วิญญาณชั่วร้าย เวทมนต์ดำ และสิ่งอัปมงคลต่าง ๆ ในทางวิทยาศาสตร์ใบเล็บครุฑสามารถนำมารับประทานได้ โดยคนทางภาคเหนือนำมารับประทานคู่กับลาบหรือจิ้มน้ำพริก เป็นต้น ซึ่งเล็บครุฑลังกาเป็นหนึ่งในสายพันธุ์เล็บครุฑ ซึ่งมีลักษณะใบมัน ใบใหญ่ มีลักษณะของใบคล้ายถ้วย มีการนำใบที่มีขนาดใหญ่มาใส่อาหารได้ด้วย

ชนิดเล็บครุฑที่ปลูกในไทย

  1. Polyscias balfouriana : ครุฑอีแปะ, ครุฑเขียวใบใหญ่ หรือ ครุฑจาน
  2. P. Balfouriana (marginata) : ครุฑกระจก หรือ ครุฑตีนกบ
  3. P. Scutellaria : ครุฑเกล็ดปลากะโห้, ครฑตีนตะพาบน้ำ หรือ ครุฑพุฒาจารย์
  4. P. Scutellaria (pennockii) : ครุฑบริพัตร
  5. P. Paniculata (variegata) : ครุฑใบกุหลาบ
  6. P. Guilfoylei (quinquefolia) : ครุฑก้านดำ
  7. P. Filicifolia : ครุฑใบเฟิร์น หรือ ครุฑกนก
  8. P. Fruticosa : ครุฑทอดมัน หรือ ครุฑตรี
  9. Polyscias sp. ครุฑกระทง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

  • ลำต้น เล็บครุฑทอดมัน/ครุฑตรี เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 1-2 เมตร ต้นอ่อนมีสีเขียว ลำต้นแก่มีสีเทา ผิวลำต้นสากมือ ลำต้นแตกกิ่งตั้งตรงรวมกันเป็นทรงพุ่ม และมีปุ่มนูนบริเวณกาบใบที่ร่วงไป
  • ใบเล็บครุฑทอดมัน/ครุฑตรี แตกออกจากลำต้น และกิ่ง โดยเรียงสลับกันเป็นชั้น ๆ ใบเป็นใบประกอบมีก้านใบหลักยาว โคนก้านใบหลักมีตุ่มหนามเล็ก ๆ สีขาว และถัดขึ้นมาเป็นจุดประสีขาวสลับกับสีเขียวเข้ม จากนั้น ก้านใบหลักแตกก้านใบย่อยออก ก้านใบย่อยมีใบเรียงกันเป็นคู่ตรงข้ามกัน 5-9 ใบ โดยใบสุดท้ายเป็นใบเดี่ยว ใบย่อยแต่ละใบมีลักษณะเรียวยาว ขอบใบหยักลึกหลายหยัก คล้ายกรงเล็บ ส่วนปลายใบแหลม
  • ดอกเล็บครุฑทอดมัน/ครุฑตรี แทงออกปลายยอดของลำต้น ช่อดอกมีขนาดใหญ่ และแตกแขนงช่อย่อยจำนวนมาก แต่ละช่อมีดอกรวมกันเป็นกระจุก 20-40 ดอก
  • ผลและเมล็ดเล็บครุฑทอดมัน/ครุฑตรี มีลักษณะค่อนข้างกลม รวมกับหลายผลเป็นกระจุก

ประโยชน์เล็บครุฑ

  1. เล็บครุฑมีลักษณะใบแปลก มีลายประ ขอบใบหยักคล้ายกรงเล็บ ทรงพุ่มหนา และเตี้ย จึงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับต้น และประดับใบ โดยส่วนมากจะนิยมปลูกในกระถางประดับตามหน้าบ้านหรือในอาคาร
  2. ยอดอ่อน และใบอ่อนมีกลิ่นหอม สามารถนำมาทอดเป็นผักหรือใช้รับประทานเป็นเครื่องเคียง
  3. ใบเล็บครุฑมีน้ำมันหอมระเหยที่ให้กลิ่นหอม สามารถนำสกัดสำหรับใช้เป็นส่วนผสมของน้ำหอม หรือนำมันสำหรับประโยชน์ในด้านความสวยความงาม
  4. ใบนำมาขยำ และใช้ทาเนื้อสัตว์ ก่อนนำไปย่าง ซึ่งช่วยให้เนื้อมีกลิ่นหอม น่ารับประทานมากขึ้น
  5. ขอบใบเล็บครุฑมีหยักเป็นฟันเลื่อยจำนวนมาก บางชนิดหยักตื้น บางชนิดหยักลึก ทำให้แลดูคล้ายกรงเล็บครุฑ ซึ่งเชื่อว่า หากปลูกแล้วจะช่วยคุ้มครอง ป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ทั้งภูตผี มนต์ดำ และสิ่งอัปมงคลไม่ให้มากล้ำกรายผู้ปลูกหรือสมาชิกในครอบครัว

สรรพคุณเล็บครุฑ

ใบ (มีกลิ่นหอม ให้รสเผ็ดร้อน)

  • ใบนำมาต้มดื่มแก้อาการปวดหัว แก้ไมเกรน แก้ปวดหัวข้างเดียว
  • น้ำต้มจากใบมีกลิ่นหอม ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย
  • น้ำต้มจากใบใช้ดื่ม แก้อาการปวดตามข้อต่าง ๆ
  • นำใบมาตำบด สำหรับพอกรักษาแผล แก้แผลอักเสบ
  • นำมาพอกทารักษาผื่นคัน
  • นำมาพอกทารักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน
  • ใบนำมาขยำแล้วอุดรูจมูก สำหรับแก้เลือดกำเดาออก

ลำต้น (รสฝาด)

  • นำมาต้มดื่มช่วยดับพิษร้อน
  • น้ำต้มช่วยรักษาท้องร่วง
  • น้ำต้มดื่ม แก้อาการปวดหัว ช่วยลดไข้
  • แก่นลำต้นนำมาฝนใช้ทาสมานแผล

ราก (รสร้อน)

  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • ช่วยให้ผ่อนคลาย
  • แก้ปวดตามข้อ

การปลูกเล็บครุฑ

เล็บครุฑทุกชนิดสามารถปลูกขายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด แต่ทั่วไปนิยมใช้การปักชำ และการตอนกิ่ง เพราะจะได้ต้นที่ไม่สูงมากนัก และสามารถบังคับให้แตกกิ่งเป็นทรงพุ่มใหญ่เหมือนการปลูกด้วยเมล็ดได้

การปลูกด้วยเมล็ด

  • นำเมล็ดแช่น้ำที่ผสมน้ำตาลประมาณ 10% เช่น น้ำ 1 ลิตร ใช้น้ำตาล 100 กรัม โดยแช่เมล็ดนาน 6 ชั่วโมง
  • นำเมล็ดลงเพาะในถุงเพาะชำ ถุงละ 1-2 เมล็ด
  • จากนั้น นำถุงเพาะชำวางไว้ในที่แสงแดดรำไร รดน้ำวันละ 1 ครั้ง ทุกวัน ประมาณ 7-15 วัน เมล็ดก็เริ่มงอก
  • หลังจากนั้น ต้นพันธุ์แตกใบแล้ว 3-5 ใบ จึงนำปลูกลงดินได้ หรือหากปลูกในกระถางอาจปล่อยให้เติบโตสักระยะ ก่อนเปลี่ยนใส่กระถางที่มีขนาดใหญ่กว่า

การเสียบยอด

  • เพาะต้นพันธุ์ในกระถาง และดูแลให้มีขนาดลำต้นประมาณนิ้วก้อย
  • เลือกกิ่งจากต้นพันธุ์ดี พร้อมตัดปลายกิ่งส่วนที่มีขนาดใกล้เคียงกับต้นตอ อาจเล็กกว่าเล็กน้อยก็ได้ แต่ห้ามให้ใหญ่กว่า พร้อมเด็ดใบออกให้หมด
  • ปาดโคนกิ่งเป็นรูปสามเหลี่ยม หรือ ตัว V ซ้าย-ขวา ให้เรียบ และสม่ำเสมอ
  • ตัดต้นตอในแนวขวางลำต้น ให้เหลือโคนต้นสูงประมาณ 5 เซนติเมตร
  • ผ่าต้นตอให้เป็นรูปตัว V ในขนาดที่พอเหมาะกับตัว V คล่ำของกิ่งที่ใช้เสียบ
  • นำกิ่งที่ปาดเป็นรูปตัว V เสียบลงตรงรอยผ่าของต้นตอให้รอยปาด และรอยกรีดจรดเสมอกัน ก่อนพันด้วยแผ่นพลาสติกให้แน่น
  • หลังจากนั้น ดูแลให้น้ำปกติ จนส่วนยอดแทงใบใหม่แล้ว จึงนำลงปลูกต่อไป

 

ที่มา  http://www.naewna.com/likesara/363620