ก่อนหน้านี้มีข่าวนักวิจัยตรวจพบว่าในปลาทูมีไมโครพลาสติกถึง 78 ชิ้นต่อตัว ซึ่งอาจเป็นที่มาของความเจ็บป่วยในโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารก็เป็นได้ แต่ไมโครพลาสติกเหล่านี้คืออะไร และมาจากไหนกันแน่



ในชีวิตประจำวันของเราทุกวันนี้มีความเกี่ยวข้องกับพลาสติกจนแทบจะแยกกันไม่ออก พลาสติกอยู่ในของเกือบทุกสิ่งที่เราใช้ ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำพลาสติก ถุงพลาสติก ด้ามปากกา เป็นต้น ซึ่งจริง ๆ แล้วพวกมันก็คือกลุ่มของพอลิเมอร์อินทรีย์ที่ได้จากปิโตรเลียม โดยรวมถึงพอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinylchloride,PVC), ไนลอน (Nylon), พอลิเอทิลีน (Polyethylene, PE), พอลิสไตรีน (Polystyrene, PS) และพอลิโพรไพลีน (Polypropylene, PP) ทั้งนี้พลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรลงไป หรือมีขนาดอยู่ในช่วง 1 นาโนเมตรจนถึง 5 มิลลิเมตร เราจะเรียกมันว่า ไมโครพลาสติก (Microplastics) ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ


 
1) Primary Microplastics
ไมโครพลาสติกประเภทนี้เป็นพลาสติกขนาดเล็ก ๆ ซึ่งถูกผลิตขึ้นโดยตรงจากโรงงานตามวัตถุประสงค์การใช้งาน เช่น พวกไมโครบีดส์ (microbeads) ที่เป็นเม็ดกลม ๆ เล็ก ๆ ในโฟมล้างหน้า เครื่องสำอาง สครับขัดผิว หรือยาสีฟัน โดยทั่วไปผลิตจากโพลีเอทิลีน (Polyethylene) ทั้งนี้มีงานวิจัยหนึ่งระบุว่า 15-31 เปอร์เซ็นต์ของพลาสติกนั้นมาจาก Primary Microplastics และ 2 ใน 3 ของพวกมันก็มาจากเส้นใยสังเคราะห์จากการซักเสื้อผ้า รวมถึงชิ้นส่วนของยางที่หลุดออกมาจากการขับขี่ ซึ่งเมื่อถูกชำระล้างด้วยน้ำหรือฝนแล้วก็ไหลไปรวมกันยังแหล่งน้ำต่าง ๆ



2) Secondary Microplastic
เป็นไมโครพลาสติกที่เกิดจากพลาสติกซึ่งมีขนาดใหญ่ แล้วแตกหักหรือผุกร่อนจากคลื่น แสงอาทิตย์ หรือแรงบีบอัด จนกลายเเป็นชิ้นเล็ก ๆ ทำให้ไมโครพลาสติกประเภทนี้มีรูปร่างที่หลากหลายมาก
นอกจากนี้ยังมีไมโครพลาสติกอีกประเภทหนึ่งที่ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าอยู่ในประเภทใด นั่นคือ ไมโครพลาสติกที่ถูกผลิตออกมาให้มีขนาดเล็ก แต่ไม่ได้จำเพาะเจาะจงการใช้งานที่ชัดเจน
 
ไมโครพลาสติกเหล่านี้ถูกปล่อยลงสู่แม่น้ำและเดินทางลงสู่มหาสมุทร ปัญหาใหญ่ก็คือ พวกมันมีขนาดที่เล็กมาก จึงไม่สามารถกรองออกจากน้ำได้ และดูเหมือนว่าจุดนี้เองที่พวกมันกำลังจะกลับมาสร้างปัญหาให้กับมนุษย์ เพราะเมื่อพวกมันลงไปสู่มหาสมุทรแล้ว สัตว์ทะเลทั้งปลา กุ้ง ปู ตลอดจนแพลงก์ตอนสัตว์ ล้วนได้รับผลกระทบ
 
อย่างที่เราทราบกันดีว่าไมโครพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น มันไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ดังนั้น การที่สัตว์ทะเลกินอาหารซึ่งปนเปื้อนไปด้วยไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายไม่สามารถขับออกได้ จึงสะสมภายในตัวของสัตว์เหล่านี้ และเมื่อกระเพาะอาหารของมันเต็มไปด้วยไมโครพลาสติกก็จะไม่มีพื้นที่พอสำหรับอาหารที่จำเป็นต่อพวกมัน ส่งผลต่อสุขภาพและทำให้มันตายลงในที่สุด แน่นอนว่ามนุษย์ซึ่งกินสัตว์น้ำเป็นอาหารย่อมได้รับไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนอยู่ในตัวสัตว์น้ำเหล่านี้ไปด้วย ดังนั้น ที่สุดแล้วพลาสติกเหล่านี้ก็จะอยู่ในตัวเรา

 



'ไมโครพลาสติก' ในร่างกายมนุษย์มาจากที่ไหน? ส่งผลอย่างไร?

การศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ Environmental Science and Technilogy เมื่อวันพุธที่ 5 มิถุนายน 2019 ซึ่งอาศัยเกณฑ์ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐ ให้ภาพว่าในแต่ละปีมีคนอเมริกันได้รับอนุภาคขนาดเล็กของพลาสติก หรือที่เรียกว่า "ไมโครพลาสติก" เข้าสู่ร่างกายโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 74,000 ถึง 121,000 อนุภาคโดยขึ้นอยู่กับอายุและเพศของบุคคล
แต่สำหรับผู้ที่ดื่มน้ำจากขวดพลาสติกเป็นประจำ การรับอนุภาคดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอีกปีละราว 90,000 อนุภาคเลยทีเดียว
นักวิจัยได้ตัวเลขดังกล่าวจากการวิเคราะห์รายงานการศึกษาก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการได้รับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายจากแหล่งสำคัญแปดแหล่ง คือจากอากาศที่หายใจ จากการดื่มแอลกอฮอล์ จากน้ำบรรจุขวด จากน้ำผึ้ง อาหารทะเล เกลือ น้ำตาล และน้ำประปา แต่แหล่งที่มาของไมโครพลาสติกดังกล่าวไม่รวมถึงเนื้อสัตว์และผักต่างๆ เนื่องจากยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ
นักวิจัยอธิบายว่า Microplastic หรืออนุภาคขนาดเล็กของพลาสติกนี้มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราอยู่แล้ว และไม่ใช่เฉพาะคนเท่านั้นแต่สัตว์ต่างๆ ก็ได้รับไมโครพลาสติกนี้เข้าสู่ร่างกายในกระบวนการดำรงชีวิตเช่นกัน เพียงแต่ว่ามนุษย์อาจได้มากกว่าจากกระบวนการผลิตและการบรรจุอาหาร
จากตัวเลขของกระทรวงเกษตรและสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐ นักวิจัยประเมินว่า โดยเฉลี่ยในแต่ละปีเด็กผู้ชายจะได้รับไมโครพลาสติกราว 81,000 หน่วย เทียบกับ 74,000 หน่วยสำหรับเด็กผู้หญิงส่วนผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่จะได้ไมโครพลาสติก 121,000 หน่วยเทียบกับ 98,000 หน่วยสำหรับผู้หญิง
อย่างไรก็ตาม การดื่มน้ำบรรจุขวดพลาสติกเพียงอย่างเดียวจะเพิ่มอนุภาคพลาสติกนี้ได้ถึง 75,000 หน่วยสำหรับเด็กผู้ชาย 64,000 หน่วยสำหรับเด็กผู้หญิงและราว 127,000 หน่วยสำหรับผู้ชายกับราว 93,000 หน่วยสำหรับผู้หญิงตามลำดับ
ผลการวิจัยก่อนหน้านี้แสดงว่า อนุภาคไมโครพลาสติกมีขนาดเล็กพอที่จะแทรกตัวเข้าไปในเนื้อเยื่อของร่างกายและกระตุ้นปฏิกิริยาด้านภูมิคุ้มกัน หรือปล่อยสารพิษกับโลหะหนักที่ติดมาจากสิ่งแวดล้อมได้
แต่ผลกระทบต่อสุขภาพอย่างแท้จริงของเรื่องนี้ยังไม่เป็นที่ทราบกัน
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์บางคนผู้ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษานี้เตือนว่า นอกจากผลของไมโครพลาสติกในร่างกายมนุษย์ซึ่งยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างชัดเจนแล้ว การศึกษาดูจะละเลยเรื่องกลไกและระบบร่างกายของมนุษย์ที่อาจสามารถกรองหรือกำจัดไมโครพลาสติกในอากาศที่เราหายใจเข้าไปได้
และนักวิทยาศาสตร์บางคน เช่น ศาสตราจารย์ Richard Lampitt จากทีมวิจัยด้านสมุทรศาสตรของอังกฤษก็ชี้ว่า ขณะนี้เรายังขาดการให้คำนิยามไมโครพลาสติกอย่างชัดเจนว่ามีขนาดเล็กแค่ไหน เพราะนอกจากไมโครพลาสติกแล้ว ยังมีอนุภาคของพลาสติกขนาดเล็กกว่าที่เรียกว่า "นาโนพลาสติก" ซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในขอบข่ายของการศึกษาครั้งนี้ด้วย
ในขณะนี้ถึงแม้จะมีการประเมินจำนวนไมโครพลาสติกที่มนุษย์ได้รับเข้าไปในร่างกายจากแหล่งต่างๆ ก็ตาม แต่ความเข้าใจเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพอย่างแท้จริงนั้นยังไม่ชัดเจน และนักวิทยาศาสตร์ก็เห็นพ้องกันว่าจำเป็นจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องนี้ต่อไป

ข้อมูลจาก ทรูปลูกปัญญา และ VOA