“...อาจมีบางคน ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงสนใจเรื่องชลประทานหรือเรื่องป่าไม้ จำได้ว่าเมื่ออายุ 10 ขวบ ที่โรงเรียนมีครูคนหนึ่งซึ่งเดี๋ยวนี้ตายไปแล้วสอนเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องการอนุรักษ์ดิน แล้วให้เขียนว่า ภูเขาต้องมีป่าไม้ไม่อย่างนั้นเม็ดฝนตกลงมาแล้ว จะชะดินลงมาเร็ว ทำให้ไหลตามน้ำไป ไปทำความเสียหาย ดินหมดจากภูเขาเพราะไหลตามสายน้ำไป ก็เป็นหลักของป่าไม้ เรื่องการอนุรักษ์ดิน และเป็นหลักชลประทานที่ว่า ถ้าเราไม่รักษาป่าไม้ข้างบนจะทำให้เดือดร้อนตลอด ตั้งแต่ดินบนภูเขาจะหมดไป กระทั่งการที่จะมีตะกอนลงมาในเขื่อน มีตะกอนลงมาในแม่น้ำ ทำให้น้ำท่วม นี่นะเรียนมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ...”
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช
วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ.2512
(จากหนังสืออุทยานแห่งชาติใต้ร่มพระบารมีจักรีภูมิพล)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมุ่งเน้นการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้เป็นแนวทางหลักในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ด้วยทรงตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมฉับพลัน และการพังทลายของดินอย่างรุนแรง จึงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาป่าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดังเดิม
ในหลวง ทรงเล็งเห็นว่า การจัดการทรัพยากรป่าไม้ มีความเกี่ยวโยงกับการอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งน้ำ จึงทรงเน้นการอนุรักษ์และพัฒนาป่าต้นน้ำเป็นพิเศษ จากแนวพระราชดำริของพระองค์ก่อให้เกิดโครงการพัฒนา และบำรุงป่าไม้จำนวนมากมายทั่วประเทศ โดยเฉพาะป่าไม้ที่เป็นต้นน้ำลำธารให้คงสภาพอยู่เดิม เพื่อป้องกันอุทกภัยต่างๆที่จะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ถนอมน้ำไว้ใช้สำหรับหล่อเลี้ยงแม่น้ำลำธารด้วย
พระราชกรณียกิจที่สำคัญที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ในด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรมมีมากมาย อาทิ
1) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เพื่อศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับรูปแบบที่เหมาะสมของการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธาร เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ รวมทั้งรูปแบบการพัฒนาต่างๆ ที่ทำให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้ โดยไม่ต้องทำลาย สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
2) โครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยลานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เพื่อบำรุงฟื้นฟูป่าไม้ที่เป็นต้นน้ำลำธารให้คงสภาพอยู่เดิม อันจะเป็นประโยชน์ในการป้องกันอุทกภัย และรักษาสภาพแหล่งต้นน้ำลำธาร
3) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี ได้ประสบผลสำเร็จอย่างสูงในด้านการลดปัญหาการบุกรุกทำลายป่า การป้องกันไฟป่า และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติด้วยการแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการปลูกป่าที่เรียบง่าย ประหยัด เหมาะสมกับราษฎรที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเอง โดยการปลูกป่าทดแทนให้ได้ประโยชน์อเนกประสงค์
4) โครงการป่าสาธิตส่วนพระองค์ พระตำหนักจิตรลดา-รโหฐาน เพื่ออนุรักษ์ รวบรวมและขยายพันธุ์พฤกษชาติรวมทั้งพืชสมุนไพร เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรป่าไม้
5) โครงการชุมชนพัฒนาป่าชายเลน ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา มีวัตถุประสงค์ที่จะทำการพัฒนาชุมชนให้มีความสำนึกในความรู้ความเข้าใจในการใช้ทรัพยากรชายฝั่ง เป็นการพัฒนาและฟื้นฟูป่าชายเลนในอีกมิติหนึ่งของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่อาศัยความเกี่ยวพันและเกื้อกูลซึ่งกัน และกันของมนุษย์กับธรรมชาติ
6) โครงการศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนยะหริ่ง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี มีเป้าหมายมุ่งเน้นให้เกิดประสิทธิภาพในด้านการจัดการและสงวนรักษาทรัพยากรป่าชายเลน มีเจตนารมณ์ที่จะให้ทุกฝ่ายมีความรู้ ความเข้าใจของ สมดุลระบบนิเวศชายฝั่ง และสร้างความร่วมมือรวมพลังกันระหว่างชุมชนและนักวิชาการที่จะปกปักรักษาและพัฒนาป่าชายเลนให้สามารถใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
7) ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับธรรมชาติและสภาพแวดล้อมของป่าพรุ อันจะทำให้การพัฒนาพื้นที่พรุเป็นไปอย่างสอดคล้องผสมผสานกันทั้งในเรื่องการอนุรักษ์ และการพัฒนาพื้นที่เขตต่างๆในป่าพรุได้ดำเนินการไปพร้อมกันอย่างได้ผลดียิ่งทำให้ป่าพรุได้รับการใช้ประโยชน์อย่างอเนกประสงค์ ควบคู่กับการสร้างสมดุลของระบบนิเวศ
พระราชกรณียกิจที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ทรงดำเนินควบคู่พระราชกรณียกิจ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นด้านการอนุรักษ์น้ำ ดิน หรือป่าไม้ โดยพระราชกรณียกิจเหล่านี้ เกิดขึ้นจากพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถในการคิดค้น ดัดแปลง ปรับปรุง และแก้ไขทฤษฎีและวิธีการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ของพสกนิกรและระบบนิเวศของประเทศ ไทย อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น ปวงชนชาวไทยจึงเทิดพระเกียรติพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราว่า “พระบิดาแห่งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”
ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล สามารถช่วยฟื้นชีวิต 3 นิเวศ ทั้ง ดิน น้ำ ป่า ให้กลับคืนมา ด้วยการดำเนินงานหลายวิธี อาทิ การปลูกหญ้าแฝก การสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น และการฟื้นฟูสภาพป่า ดำเนินการใน 5 ลักษณะได้แก่
1.ปลูกป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง
2.ระบบภูเขาป่า
3.การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก
4.ระบบป่าเปียก
5.ป่าชายเลน
ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร
และเมื่อวันที่ 16 เม.ย.2555 ศ.สตีเฟน นอร์ตคลิฟฟ์ กรรมการบริหารสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ และอดีตเลขาธิการสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าเฝ้าทูลละออง ธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัล The Humanitarian Soil Scientist หรือ “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยชาติ” พระองค์แรกของโลก สดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงให้ความสำคัญแก่การบริหารจัดการทรัพยากรดิน และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่สนับสนุนการ บริหารจัดการดินอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนและเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในประเทศและนานาประเทศ
ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระราชปณิธานมุ่งมั่น ในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ในด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่า เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทยของพระองค์ ที่ได้ทรงริเริ่มและทรงเพียรพยายาม ที่จะพลิกฟื้นผืนดินไทยให้กลับคืนสู่ความสมดุลอย่างสอดคล้องและสัมพันธ์กัน
แผ่นดินไทยทุกวันนี้จึงเป็นแผ่นดินทองอันอุดมสมบูรณ์
เป็นป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติที่ “พ่อ” ให้เป็นสมบัติของลูกหลานไทยไปตราบนานเท่านาน.