บิณฑบาตรักษ์โลกซีโร่เวสต์ (Zero Waste) เปิดใจ พระสงฆ์ 2 รูปแห่งวัดป่าบุก เข็นตู้กับข้าวเพื่อใส่อาหารที่ญาติโยมนำมาบิณฑบาต ลดโฟม-พลาสติก แก้ปัญหาขยะล้นโลก ไอเดียบรรเจิด! ให้ชาวบ้านนำอาหารใส่ภาชนะที่พระเตรียมมา ส่วนพระรับอาหารแค่พอฉันต่อวัน ยกเว้นมีงานศพจะรับเพื่อไปช่วยงาน ให้เลี้ยงอาหารจานเดียว มอบต้นไม้แทนพวงหรีด ลดขยะ ประหยัดเงินให้เจ้าภาพเพียบ!
วัดป่าบุก ต.แม่แรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน มีพระอยู่ 2 รูปโดยมีประชาชนประมาณ 90 หลังคาเรือน ท้องถนนเต็มไปด้วยความสะอาดสบายตา และสองข้างทางเต็มไปไปด้วยผักสวนครัวข้างทาง
พระวัดป่าบุกท่านจะบิณฑบาตอาหารแค่เพียงพอต่อพระ 2 รูปเท่านั้น!! ซึ่งก็คือเจ้าอาวาส และรองเจ้าอาวาสวัดป่าบุกนั่นเอง
“การบิณฑบาตโดยเข็นตู้กับข้าวมาด้วยมีมานาน 20 ปีแล้ว ตั้งแต่เจ้าอาวาสรูปก่อน เพื่อช่วยลดขยะพลาสติก และหมู่บ้านป่าบุกก็เป็นศูนย์การเรียนรู้ มีการรณรงค์การลดขยะมานานแล้วตู้กับข้าวที่เข็นนี้ก็มีอายุ 20 ปีแล้ว ที่นำป้ายทะเบียนรถมาติดเพื่อเพิ่มสีสันเท่านั้น เมื่อก่อนวิถีชีวิตของชาวบ้านญาติโยมจะนำปิ่นโตมาถวายพระที่มาเดินบิณฑบาต จากนั้นทางวัดก็เริ่มพัฒนามาเป็นรถตู้กับข้าว "
เมื่อญาติโยมนำอาหารที่ใส่จานชามของพวกเขาถวายให้พระ อาตมาก็จะนำจานชามของชาวบ้านที่เต็มไปด้วยอาหารมาเปลี่ยนใส่เป็นจานชามของทางวัด จากนั้นก็ใส่ตู้กับข้าวเพื่อความสะอาด เพื่อเป็นการลดใช้ถุงพลาสติก และโฟม
อาหารที่ชาวบ้านนำมาบิณฑบาตจะเป็นอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ จะมีความร้อน หากเป็นถุงพลาสติกนอกจากจะเพิ่มขยะแล้ว ยังช่วยป้องกันสารเคมีก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง เพิ่มความปลอดภัยให้วัดด้วย
แต่ละวันที่วัดจะแบ่งการบิณฑบาตออกเป็น 4 สาย 4 เส้นทาง ในหนึ่งวันจะออกบิณฑบาตเพียง 1 สาย 1 เส้นทางเท่านั้น ชาวบ้านจะทราบเองโดยอัตโนมัติเลยว่า วันไหนพระจะมาบิณฑบาตในเส้นทางที่ผ่านบ้านเขา ที่ทำแบบนี้เพื่อเป็นการลดรายจ่ายของชาวบ้าน ไม่ต้องออกมาใส่บาตรทุกวัน
เพราะหากไปบิณฑบาตผ่านทั้ง 90 หลังคาเรือน อาหารที่บิณฑบาตมาจะฉันไม่หมด เพราะวัดป่าบุกมีเพียงพระ 2 รูปเท่านั้น
ทว่า รองเจ้าอาวาส ยังชี้แจงถึงการจัดงานศพของวัดป่าบุก ที่จะทำให้เจ้าภาพประหยัดค่าใช้จ่าย โดยจะให้เลี้ยงอาหารจานเดียวให้ทุกคนตักเองแค่พอกิน ใช้เต็นท์แทนปราสาทเพื่อลดขยะและค่าใช้จ่าย มอบต้นไม้แทนพวงหรีด ใช้ดอกไม้จันทน์เคารพศพแทนการจุดธูป และที่สำคัญต้องงดเลี้ยงเหล้าแขกที่มาในงาน
“ช่วงแรกก็มีคนต่อต้านบ้าง ในอดีตสังคมทางภาคเหนือจะเลี้ยงอาหารแบบขันโตก มีกับข้าวหลายอย่าง เช่น แกงฮังเล น้ำพริก ผัก ต้มจืด หลากหลายอย่าง ซึ่งจะทำให้เจ้าภาพสิ้นเปลือง จึงมาปรับเปลี่ยนเป็น “อาหารจานเดียว” โดยใช้เวทีประชาคมของหมู่บ้าน วัด โรงเรียน ชาวบ้าน มาระดมความคิดเห็นกัน ลองเลี้ยงอาหารจานเดียวแขกเหรื่อดู ปรากฏว่า ก็ทำให้ลดค่าใช้จ่ายได้เยอะเลย
ส่วนการงดเหล้าในงานศพนั้น แน่นอนเวลานั้นเจ้าภาพกำลังเสียใจต่อการจากไปของคนในครอบครัวจึงไม่เหมาะสมกับการสังสรรค์ รื่นเริง จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะดื่มเหล้ากัน การเลี้ยงเหล้าแขกที่มางานจึงเป็นการเพิ่มภาระให้แก่เจ้าภาพ นอกจากนี้ หมู่บ้านป่าบุกยังได้รับเลือกเป็น “หมู่บ้านศีล 5” ตัวแทนของ จ.ลำพูน อีกด้วย
ในการจัดการขยะนั้นวัดป่าบุกจะคัดแยกขยะมูลฝอยแต่ละประเภทไว้ โดยขยะอินทรีย์จะมีชาวบ้านมารับไปทำเป็นปุ๋ย ขยะรีไซเคิลจะคัดแยกใส่ตะแกรงคัดแยกและนำไปจำหน่ายกับชุมชน
ส่วนขยะทั่วไปจะรวบรวมใส่ถุงดำเพื่อให้เทศบาลนำไปกำจัด และสำหรับขยะอันตรายหากมีก็จะนำไปทิ้งตรงจุดของหมู่บ้าน ดังจะเห็นได้จากป้ายที่ติดทั่วหมู่บ้าน "ฮ่วมกั๋น คัดแยกขยะ เพื่อสิ่งแวดล้อม", "ป่าบุกน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก ทุกคนรู้จักคัดแยกขยะ"
นอกจากนี้ ทุกวันพระ ชาวบ้านมาทำบุญ พระก็จะสอดแทรกการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะให้แก่ชาวบ้านด้วย รวมถึงพื้นที่ 2 ไร่ภายในวัดยังอัดแน่นไปด้วยของรีไซเคิลจากขยะ และพื้นที่ปลูกผักไร้สารพิษ
สำหรับขยะพลาสติกนั้นก็นำมารีไซเคิลต่อยอดบุญ เมื่อมีงานบุญกฐิน ชาวบ้านจะนำซองน้ำยาปรับผ้านุ่ม ซองบะหมี่สำเร็จรูป มาใช้ประดับกองกฐิน ด้วยการประดิษฐ์ให้กลายเป็นดอกไม้ ซึ่งเป็นการนำขยะมาใช้ประโยชน์
ที่ทำให้การลดขยะในหมู่บ้านป่าบุกสำเร็จอย่างท่วมท้นนั้นหัวใจหลัก คือ "ความสามัคคี" ที่ทำให้ชาวบ้านทั้ง 90 หลังคาเรือนเข้าร่วมกิจกรรมชุมชนปลอดขยะ Zero Waste ทุกครัวเรือน โดยทุกบ้านมีถังแยกขยะรีไซเคิล ส่วนขยะย่อยสลายได้ จะถูกนำไปใช้ทำปุ๋ยคอกของครัวเรือนและชุมชน รวมทั้งเศษไม้ และกิ่งลำไย ที่ชาวบ้านนำมาใช้ทำฟืนเหมือนการทิ้งไปเมื่อในอดีต
ข้อมูลข่าวภาพเพิ่มเติม จาก ผู้จัดการออนไลน์